แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นิติกรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นิติกรรม แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560


นิติกรรม คืออะไร
            1. ความหมายของนิติกรรม
                นิติกรรม  หมายความว่าการใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร  มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล  เพื่อจะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  หรือระงับซึ่งสิทธิ
            2. ลักษณะของนิติกรรม 
                ลักษณะสำคัญของนิติกรรมมีดังนี้
                2.1 เป็นการกระทำของบุคคลโดยมีการแสดงเจตนา  เฉพาะบุคคลเท่านั้นที่จะแสดงเจตนาได้  อาจจะเป็นบุคคลธรรมดา  หรือนิติบุคคลก็ได้
                ตัวอย่าง  เช่น  จากภาพยนตร์โฆษณา  ที่เห็นสุนัขคาบเงินมาซื้ออาหารไม่ถือเป็นนิติกรรมเพราะสุนัขไม่ใช่บุคคลตามกฎหมาย
                การแสดงเจตนาคือการทำด้วยประการใด ๆ  ให้ปรากฏออกมาเป็นที่เข้าใจได้ถึงเจตนาภายในอันต้องการของบุคคล  โดยที่เจตนาภายในของผู้ต้องการกระทำนิติกรรมเป็นสิ่งซึ่งไม่อาจมีผู้ใดล่วงรู้ได้  ดังนั้นการมีเจตนาอยู่ในจิตใจของบุคคลใด ๆ จึงไม่เกิดผลในกฎหมายแต่อย่างใด  ถ้าประสงค์จะให้เกิดผลในกฎหมาย  บุคคลนั้นต้องแสดงเจตนาออกมาให้ปรากฏ การแสดงเจตนาอาจกระทำได้ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ  เช่น  โดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร  หรือแม้โดยการแสดงอากัปกิริยาอาการซึ่งทำให้ปรากฏออกมาให้เป้ฯที่เจ้าใจได้ถึงเจตนาภายในของบุคคลที่แสดงนั้น
                ตัวอย่าง
                1. นายกุ๊กต้องการซื้อระจักรยานจากนายไข่  มีการต่อรองราคาและตกลงซื้อ  ถือเป็นการแสดงเจตนาซื้อจักรยานด้วยวาจาแล้ว
                2. นายจันทร์เดินไปหยิบหนังสือพิมพ์บนแผงหนังสือโดยไม่พูดจาอะไร  แล้ววางเงินแปดบาทบนโต๊ะ  ถือเป็นการแสดงเจตนาโดยมีท่าทางหรืออากัปกิริยาในการซื้อหนังสือพิมพ์แล้ว
                3. นายสมเดชรับหนังสือพิมพ์ไทราชติดต่อกันเป็นเวลานาน  เมื่อหมดอายุสมาชิกสำนักพิมพ์ยังคงส่งมาให้เช่นเดิม  โดยนายสมเดชไม่ส่งคืน  ถือเป็นการแสดงเจตนารับหนังสือพิมพ์ต่ออย่างหนึ่ง
                2.2 ต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
                 ตัวอย่าง  เช่น  นายดำทำนิติกรรมเสนอขอซื้อปากกาของนายแดงโดยตกลงกันว่า ถ้านายแดงจะสอนงตอบให้ตบหน้านายเขียว  1  ครั้ง  แม้นายแดงจะตบหน้านายเขียวแล้วก็ตาม  การตบหน้าเป้ฯการกระทำละเมิด  ไม่ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงไม่ถือว่าเป็นนิติกรรม 
                2.3 ต้องเป็นการกระทำด้วยใจสมัคร  ไม่มีบุคคลใดมาหลอกลวงหรือข่มขู่  หรือสำคัญผิดให้ผู้กระทำนิติกรรมนอกเหนือจากความต้องการแล้วยังอาจรวมถึงการกระทำที่ขาดเจตนา  เช่น  กระทำในขณะปราศจากความรู้สึกตัว  หรือละเมอไม่ได้สติหรือคนวิกลจริต  หรือเด็กไร้เดียงสาได้กระทำการใดไปก็น่าจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยปราศจากใจสมัครด้วย
                  ตัวอย่าง  1 จับมือผู้ป่วยมีสติไม่ปกติ  พูดจาไม่รู้เรื่องให้พิมพ์ลายนิ้วมือ  หรือจับมือให้เซ็นในใบมอบอำนาจ  เป็นการกระทำที่ขาดเจตนาที่เรียกว่าไม่สมัครใจทำ  ไม่เป็นนิติกรรม
                                2 นายเขียวนอนหลับละเมอเซ็นเช็คไม่ถือเป็นการทำโดยสมัครใจ  จึงไม่ใช่นิติกรรม
                  2.4 ต้องเป็นการกระทำที่มุ่งโดยตรงที่จะให้เกิดผลในทางกฎหมายขึ้นระหว่างบุคคล  ดังนั้นกรพูดจาล้อเล่น  การแสดงอัธยาศัยไมตรีทางสังคมคำปรารภ  หรือการเชื้อเชิญ  เป็นต้น  ไม่ถือเป็นนิติกรรม
                 ตัวอย่าง  เช่น  นายแดงนัดกับนายเขียวว่าหลังสอบเสร็จจะเลี้ยงข้าวและหนัง  ไม่ถือเป็นนิติกรรม
                 2.5 ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสิทธิ  เพื่อก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิโอนสิทธิ สงวนสิทธิ  หรือระงับสิทธินั้น
                 ตัวอย่าง  1. นายแดงทำสัญญาให้นายขาวเช่าบ้าน ก่อให้เกิดสิทธิตามสัญญาเช่า  ผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์ในบ้านที่ตกลงเช่า  หรือผู้เช่าต้องจ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่า  เป็นต้น
                               2. นายชมพูขายม้าให้แก่นายส้ม  ทำให้กรรมสิทธิ์ในตัวม้าย่อมโอนจากนายชมพูไปยังนายส้ม            
                               3. นายคำเป็นเจ้าหนี้นายเหลือง 100,000  บาท  และเข้าทำสัญญาจำนองกับนายเหลือง  หรือโดยมีนายฟ้าเป็นผู้รับประกันนายเหลืองในการที่จะใช้เงินที่ค้างชำระ  การที่ได้กระทำลงทั้งนี้เพื่อสงวนสิทธิของนายดำ
                               4. นายเขียวกู้ยืมเงินนายม่วง  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเขียวนำเงินต้นและดอกเบี้ยไปชำระ  เมื่อนายม่วงได้รับชำระหนี้แล้ว  หนี้เงินกู้เป็นอันระงับสิ้นไป  นายม่วงจะเรียกให้นายเขียวชำระหนี้เงินกู้ยืมอีกไม่ได้
            3. แบบของนิติกรรม
                แบบของนิติกรรมหรือกรอบพิธีภายนอกของนิติกรรมนั้น  โดยหลักแล้วแม้นิติกรรมจะสมบูรณ์เมื่อมีการแสดงเจตนาก็ตาม  แต่การแสดงเจตนาอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ  ต้องทำตามแบบหรือกรอบพิธีภายนอกของนิติกรรมเสียก่อน  มิฉะนั้นมีผลเป็นโมฆะ
                กล่าวโดยสรุป  แบบของนิติกรรม  หมายถึงวิธีการหรือพิธีการที่กฎหมายกำหนดและบังคับให้ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมต้องปฏิบัติตาม  เพื่อความสมบูรณ์ของนิติกรรมที่ทำ
                อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบนิติกรรมในทุกเรื่อง  หากนิติกรรมใดกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้  นิติกรรมนั้นอาจสมบูรณ์ได้เพียงการแสดงเจตนา
                ตัวอย่าง  เช่นต้องการซื้อข้าวผัด  1  ห่อ  เพียงสั่งข้าวผัดและคนขายผัดข้าวผัดส่งให้  เป็นการแสดงเจตนาด้วยวาจา  เพียงเท่านี้นิติกรรมซื้อขายข้าวผัดก็เกิดแล้ว  กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบของนิติกรรม
                แบบของนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น  สามารถแยกเป็น  4  ประเภทดังนี้
                3.1 แบบที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพบนักงานเจ้าหน้าที่เช่น  สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษซึ่งได้แก่เรือกำปั่นหรือเรือที่มีระวางตั้งแต่  6   ตันขึ้นไป  เรือยนต์หรือเรือกลไฟมีระวางตั้งแต่  5  ตันขึ้นไป  แพและสัตว์พาหนะ  แลกเปลี่ยน ให้  จำนอง  เป็นต้น  กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
                 ตัวอย่าง  เช่น  นายประสงค์ตกลงซื้อบ้านของนายประสิทธิ์  โดยมีการชำระราคาและส่งมอบบ้านให้เข้าอยู่อาศัย  เช่นนี้การซื้อขายบ้านตกเป็นโมฆะเพราะทำผิดแบบที่กฎหมายกำหนด
                 3.2 แบบที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  แบบของนิติกรรมประเภทนี้กำหนดเพียงต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้นไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ  เช่น  การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท  การจดทะเบียนสถานะของบุคคล  ได้แก่การเกิด  การตาย  การสมรส  การหย่า  การรับรองบุตร  การรับบุตรบุญธรรม  กฎหมายกำหนดให้ต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
                 ตัวอย่าง  เช่น  นายศักดิ์แต่งงานกับนางสาวศรี  โดยจัดงานที่โรงแรมอย่างใหญ่โต  ไม่ถือเป็นการสมรส  เพราะการสมรสต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น
                 3.3 แบบที่ต้องทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  เช่น  การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือแบบลับ
                  ตัวอย่าง  เช่น  นายไก่ต้องการพินัยกรรมแบบเอกสารลับ  โดยเขียนพินัยกรรม และผนึกพินัยกรรมพร้อมลงลายมือชื่อคาบรอยผนึก  และต้องนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
                 3.4  แบบที่ต้องทำเป็นหนังสือ  กล่าวคือต้องลงลายมือชื่อในหนังสือที่ทำนิติกรรม  หนังสือนั้นจะทำเป็นภาษาต่างประเทศก็ได้  จะเขียนเองหรือพิมพ์ก็ได้
                 ส่วนลายมือชื่อนั้น  หากคู่กรณีต้องการใช้พิมพ์นิ้วมือ  หรือเป็นแกงไดตราประทับ  หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นแทนการลงลายมือชื่อ  หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนให้ถือเสมือนกับลงลายมือชื่อ
                 นิติกรรมที่ต้องทำเป็นหนังสือ เช่น สัญญาเช่าซื้อ  หรือการทำพินัยกรรมแบบธรรมดา เป็นต้น
                 ตัวอย่าง  นายแดงต้องการเช่าซื้อโทรทัศน์ราคา 6,000  บาท  ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ สัญญาเช่าซื้อนั้นตกเป็นโมฆะ
                  ข้อสังเกต
                  ส่วนการส่งมอบ เป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งของนิติกรรมที่ทำให้นิติกรรมนั้นสมบูรณ์  ไม่ถือเป็นแบบที่ทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะ
                  ตัวอย่าง  เช่น  ในสัญญาหมั้นต้องมีการส่งมอบของหมั่นให้แก่กัน  แม้ไม่ส่งมอบของหมั่นก็ไม่ทำให้สัญญาหมั้นตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด  เพราะไม่ใช่แบบของการหมั่น  แต่จะทำให้สัญญาหมั้นไม่สมบูรณ์เท่านั้น
            4. ความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรม
                บุคคล  หมายถึง  สิ่งที่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย  ดังนั้นโดยหลักแล้วบุคคลย่อมมีความสามารถในการทำนิติกรรมได้ทั้งสิ้น  เว้นแต่บุคคลนั้นจะเป็นผู้หย่อนความสามารถหรือกฎหมายจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรมไว้  ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองผลประโยชน์ของบุคลเหล่านั้น

                ผู้หย่อนความสามารถ  หมายถึงบุคคลดังต่อไปนี้
                4.1 ผู้เยาว์  หมายถึง  บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย  ซึ่งบุคคลจะบรรลุนิติภาวะได้  มีเงื่อนไขดังนี้
                      ก. อายุครบ  20  ปีบริบูรณ์
                        ข. ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการสมรสตามกฎหมายนั้นจะทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุ  17  ปีบริบูรณ์  โดยได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของทั้งสองฝ่าย  หรือหากมีอายุน้อยกว่า  17  ปี  หากมีเหตุสมควรและมีดุลพินิจของศาลอนุญาตให้สมรสได้  บุคคลดังกล่าวนั้นจะกลายเป็นบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย  แม้ต่อมาหย่าขาดจากกันขณะอายุยังไม่ถึง  20 ปี ก็ยังคงเป็นบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะเช่นเดิม
                 ตัวอย่าง  เช่น นางสาวเดือนอายุ  16  ปี  ตั้งครรภ์  หากศาลมีดุลพินิจเห็นควรอนุญาตให้นางสาวเดือนสมรสกับนายเด่นได้  เช่นนี้นางสาวเดือนถือเป็นบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
                 การทำนิติกรรมของผู้เยาว์  ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน  หาฝ่าฝืนนิติกรรมตกเป็นโมฆียะ
                 ตัวอย่าง เช่น นายเล็กอายุ 15 ปี ไปซื้อมอเตอร์ไซด์  ราคา  50,000  บาท  นิติกรรมที่นายเล็กซึ่งเป็นผู้เยาว์ซื้อมอเตอร์ไซด์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  มีผลเป็นโมฆียะ
                 มีข้อยกเว้นซึ่งผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม มี 3 กรณี  ดังนี้
                 1)  นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้สิทธิ  หรือหลุดพันจากหน้าที่  ถือเป็นนิติกรรมที่ได้ประโยชน์แก่ผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว  เช่น การรับทรัพย์ที่มีผู้ยกให้โดยเสน่หา  การรับมรดกโดยไม่มีภาระติดพันหรือมีเงื่อนไขใด ๆ  และการปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้  ซึ่งเป็นผู้เยาว์  เป็นต้น
                  ตัวอย่าง  เช่น  ยายของเด็กชายนิดยกที่ดินให้เด็กชายนิดซึ่งเป็นหลานโดยทำใบมอบอำนาจให้หลานไปทำนิติกรรมแทน  แม้เด็กชายนิดจะยังไม่บรรลุนิติภาวะก็เป็นผู้รับมอบอำนาจได้  ถือเป็นเรื่องที่ผู้เยาว์สามารถทำได้ด้วยตนเองโดยลำพัง
                  2) นิติกรรมที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้เยาว์  โดยความสมัครใจของผู้เยาว์ผู้แทนโดยชอบธรรมจะแสดงเจตนาแทนไม่ได้  เช่น  การทำพินัยกรรมการรับรองบุตรเพื่อเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์  เป็นต้น
                  ตัวอย่าง
                  1. นายไก่  อายุ 16 ปี  มีบุตรชื่อเด็กชายไข่  นายไก่ต้องการรับรองบุตรเพื่อให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตน  แม้บิดามารดาของนายไก่ไม่ยินยอม  ถือเป็นเรื่องที่นายไก่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพัง
                  2. นายขวดอายุ 15 ปี  ต้องการทำพินัยกรรมเพื่อยกทรัพย์สินของตนให้นางสาวฉิ่งเผื่อตนเองตาย  ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ผู้เยาว์ทำได้  แต่กฎหมายกำหนดให้การทำพินัยกรรมจะทำได้ต้องอายุ 15 ปีบริบูรณ์ หากอายุไม่ถึง  15 ปี  พินัยกรรมมีผลเป็นโมฆะ
                 3) นิติกรรมที่จำเป็นเพื่อการเลี้ยงชีพ  และสมแก่ฐานะของผู้เยาว์ได้แก่การซื้ออาหารรับประทาน  การซื้อของใช้ที่จำเป็น  เป็นต้น
                 ตัวอย่าง  เช่น  เด็กชายแก่นอายุ  14 ปี  ซื้อข้าวผัดเพื่อรับประทาน  ถือว่าเป็นนิติกรรมเพื่อการเลี้ยงชีพ  สามารถทำได้โดยลำพัง  แต่หากเด็กชายแก่นจัดงานเลี้ยงเพื่อนฝูงหรือรับประทานอาหารในโรงแรมห้าดาว  เป็นเงิน 30,000  บาท  เช่นนี้ไม่ถือเป็นการกระทำอันสมควรแม้เพื่อการเลี้ยงชีพแต่ไม่สมแก่ฐานะของผู้เยาว์  ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน
                  ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า  ฐานานุรูปความจำเป็นและสมควรเหล่านี้จะถือเอาตามที่เป็นจริงหรือตามที่บุคคลผู้ทำการติดต่อเกี่ยวกับผู้เยาว์เข้าใจเอาเองซึ่งกรณีนี้ศาลอังกฤษตัดสินถือเอาตามความเป็นจริง  ถ้าผู้เยาว์มีของใช้จำเป็นอยู่เพียงพอแล้วยังไปทำนิติกรรมจับจ่ายเกินจำเป็น  แม้ผู้ขายของให้จะไม่รู้ก็ไม่ผูกพันผู้เยาว์ การที่ทำไปนั้นตกเป็นโมฆียะ  ตามตัวบทของกฎหมายไทยยังไม่เห็นมีทางที่จะแปลไปได้เป็นอย่างอื่น  ฐานะของผู้เยาว์ในเรื่องการทำนิติกรรมจึงออกจะตกหนักแก่พ่อค้าอยู่มาก  เพราะไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแสดงฐานะ
                 แต่มีนิติกรรมบางอย่างที่กระทบกระเทือนถึงผลประโยชน์ของผู้เยาว์ซึ่งกฎหมายเห็นเป็นเรื่องสำคัญ  ผู้เยาว์ทำโดยลำพังไม่ได้  แม้ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมก็ทำไม่ได้  ต้องให้ศาลเข้ามาควบคุมการทำนิติกรรมของผู้เยาว์  มีนิติกรรมดังนี้เช่น  ขาย  แลกเปลี่ยน  จำนอง  ขายฝาก  ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า  3  ปี  ให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์  หรือให้กู้ยืมเงินเป็นต้น  ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องให้ศาลอนุญาตก่อน
                 ตัวอย่าง  เช่น  นายใหญ่  และนางน้อย  ยกบ้านของตนให้กับเด็กชายเยี่ยม อายุ  3  ขวบ  ต่อมาครอบครัวมีปัญหาทางการเงินต้องการขายบ้านหลังดังกล่าวของเด็กชายเยี่ยม  การขายบ้านทำไม่ได้แม้บิดามารดาจะยินยอมหรือจะอ้างความจำเป็นทางเศรษฐกิจเพื่อขายบ้านของเด็กชายเยี่ยมไม่ได้  ต้องให้ศาลอนุญาตเท่านั้น
                 4.2  คนไร้ความสามารถ  หมายถึง  คนวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  และตั้งผู้อนุบาลเป็นผู้ดูแลคนไร้ความสามารถ
                 การทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถนั้น  คนไร้ความสามารถจะทำนิติกรรมโดยลำพังไม่ได้  หรือทำโดยได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลไม่ได้มิฉะนั้นนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะ
                 ข้อสังเกต
                 กรณีของคนวิกลจริตที่ศาลไม่ได้สั่งให้คนไร้ความสามารถนั้น  เนื่องจากคนวิกลจริตนี้ไม่จำต้องมีสติรู้สึกผิดชอบอยู่ตลอดเวลา  หากขณะทำนิติกรรมทำไปโดยรู้สึกผิดชอบ  ถึงแม้คู่กรณีอีกฝ่ายจะรู้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริต  นิติกรรมสมบูรณ์ใช้ได้  แต่หากขณะนิติกรรมทำไปโดยไม่รู้สึกผิดชอบและคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้ว่าเป็นคนวิกลจริต  นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ
                 ตัวอย่าง  เช่น นายใจเป็นคนบ้า  เดินไปซื้อรถเก๋ง 1 คัน  ขณะซื้อรถเก๋งไม่ได้บ้าพูดคุยรู้เรื่อง  นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์  แต่หากขณะที่นายใจมาซื้อรถมีอาการเป็นบ้าพูดคุยไม่รู้เรื่องเพียงแต่มีเงินซื้อรถเท่านั้น  หากอีกฝ่ายหนึ่งรู้ว่าบ้ายังขายรถให้  นิติกรรมนั้นไม่ผลเป็นโมฆียะ
                 4.3 คนเสมือนไร้ความสามารถ  หมายถึง  คนที่ไม่ถึงกับวิกลจริต แต่มีเหตุบกพร่องบางประการไม่สามารถจัดการงานของตนได้  ศาลจึงตั้งผู้ดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ  เรียกว่า  ผู้พิทักษ์
                  การทำนิติกรรม  โดยหลักคนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมได้โดยลำพัง  ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์  แต่มีข้อยกเว้นในการทำนิติกรรมบางประเภทเท่านั้นที่กฎหมายกำหนดให้คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือโดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์  หากฝ่าฝืนนิติกรรมตกเป็นโมฆียะ  เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน  นำทรัพย์สินไปลงทุนการรับประกัน  การให้โดยเสน่หา  การเสนอคดีต่อศาล  หรือการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ  เป็นต้น
                  ตัวอย่างเช่น  นายไก่เห็นว่านายไข่บุตรชายของตนซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว  ติดสุรา  ชอบเล่นการพนัน  จนไม่สามารถจะจัดการเรื่องทรัพย์สินของตนเองได้  นายไก่อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของตนเองก็ได้
                  จากตัวอย่างข้างต้น  นายไข่ไม่สามารถขายบ้านของตนให้กับนายขวดไม่อาจยกแหวนเพชรราคา 50,000  บาทให้แก่นางสาวจาน  ไม่อาจก่อสร้างบ้านใหม่  ซ่อมแซมหรือขยายบ้านเก่าให้ใหญ่ขึ้นได้   นอกจากจะต้องขอความยินยอมจากนายไก่ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์เสียก่อน
                 4.4 คู่สมรส  หมายความ  ถึงสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายโดยหลักแล้วคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถทำนิติกรรมโดยลำพังตนเองได้ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมสรอีกฝ่ายหนึ่ง  แต่มีข้อยกเว้นในการทำนิติกรรมบางประเภทเท่านั้นที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส  กฎหมายกำหนดให้การทำนิติกรรมนั้น ๆ  คู่สมรสโดยต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อน  หากฝ่าฝืนนิติกรรมตกเป็นโมฆียะเช่น  ขาย  แลก  เปลี่ยน  ขายฝาก  ให้เช่าซื้อ  จำนอง  ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า  3  ปี  ให้กู้ยืมเงินให้โดยเสน่หา  ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย  เป็นต้น
            ตัวอย่าง  เช่น  นายชายเป็นสามีของนางหญิง  นายชายต้องการบ้านที่ตนอยู่ตามลำพัง  นิติกรรมนี้มีผลเป็นโมฆียะ  ต้องได้รับความยินยอมจากนางหญิงเสียก่อน
            5. วัตถุประสงค์ของของนิติกรรม
            หมายถึงประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมประสงค์จะให้เกิดหรือให้เป็นผลขึ้นมา  เช่น  ทำสัญญาซื้อบ้านผู้ซื้อต้องการได้กรรมสิทธ์ในบ้านมาเป็นของตน  ฝ่ายผู้ขายต้องการได้เงินจากการขายบ้าน  เป็นต้น  แต่หากนิติกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว  นิติกรรมเป็นโมฆะ
            วัตถุประสงค์ของนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมี  3  กรณีดังนี้
            5.1 นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  กล่าวคือมีกฎหมายห้ามไว้ไม่ให้กระทำ  เช่น  การซื้อขายยาเสพติด  การจ้างฆ่าคน  การติดสินบนเจ้าพนักงาน  หรือการทำพินัยกรรมในกรณีที่อายุยังไม่ครบ 15 ปี  เป็นต้น
            5.2 นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย  กล่าวคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้โดยแน่แท้  เช่น  ทำสัญญาซื้อม้าชื่อสิรินภา  แต่ม้าตัวดังกล่าวตายก่อนทำสัญญา  ถือว่าสัญญาซื้อขายม้ามีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย  หรือทำสัญญาว่าจะย้ายดอกอินทนนท์มาไว้ที่กรุงเทพฯ  ถือเป็นเรื่องมีวัตถุประสงค์เป้ฯการพ้นวิสัยไม่อาจชำระหนี้ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์นั้นได้
            5.3 นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน  เช่น  รับจ้างเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น เป็นต้น
            6. เจตนาของบุคคลในการทำนิติกรรม
            ซึ่งโดยหลักทั่วไปของนิติกรรม  ต้องเป็นการกระทำของบุคคลโดยมีการแสดงเจตนา  การแสดงเจตนาจะมีผลสมบูรณ์เมื่อการแสดงเจตนากับการแสดงออกเหมือนกัน  แต่ถ้าการแสดงออกไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงที่มีอยู่ในใจอาจทำให้นิติกรรมนั้นมีผลเป็นโมฆะหรือโมฆียะได้แล้วแต่กรณี
            ความบกพร่องของการแสดงเจตนาที่ทำให้นิติกรรมไม่สมบูรณ์มีดังนี้
            6.1 การแสดงเจตนาซ่อนเร้น  หมายถึงการแสดงเจตนาหลอก  เพราะผู้แสดงเจตนาได้แสดงเจตนาออกมาเพียงหลอก ๆ  ไม่ต้องการให้มีผลผูกพันจริงจังดังที่แสดงออกมานั้น  กล่าวคือปากกับใจไม่ตรงกัน
            ผลของการแสดงเจตนาซ่อนเร้นนิติกรรมยังคงสมบูรณ์อยู่  คู่กรณีทั้งสองฝ่ายยังคงมีสิทธิและหน้าที่ตามนิติกรรมที่แสดงออกทุกอย่าง  เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันแท้จริงในใจ  จึงจะทำให้นิติกรรมที่แสดงออกมานั้นตกเป็นโมฆะ
            ตัวอย่าง  เช่น นายไก่เสนอจะขายบ้านให้แก่นายไข่  ในราคา 1,000,000  บาท  จริง ๆ แล้วนายไก่ไม่มีเจตนาที่จะขายบ้านแต่มีเจตนาเพียงแต่จะยืมเงินแล้วจะใช้คืนในภายหลัง  แต่นายไข่ไม่ทราบเจตนานั้น  โดยมีเจตนาแท้จริงที่จะซื้อขายบ้านกับนายไก่  ภายหลังนายไก่จะค้านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ  โดยอ้างเหตุว่าตนไม่เจตนาที่แท้จริงที่จะขายบ้านไม่ได้
            แต่หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป  นายไข่รู้ว่านายไก่มีเจตนาจะยืมเงิน  และการซื้อขายบ้านนั้นทำเพื่อลวงเท่านั้น  มีผลให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ
            6.2 การแสดงเจตนา  หมายถึงคู่กรณีไม่มีเจตนาที่จะทำนิติกรรมกันจริง ๆ  แต่ทำขึ้นเพื่อหลอกบุคคลภายนอก  นิติกรรมที่เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ  แต่ห้ามยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกที่สุจริต  และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น
            ตัวอย่าง  เช่น  นายไก่ต้องการจะเป็นผู้จัดการธนาคาร  แต่ไม่มีทรัพย์สินเพื่อวางประกันในการเข้าทำงาน  นายไก่จึงสมรู้กับนายไข่ทำสัญญาขึ้นฉบับหนึ่งซึ่งนายไข่ลวงขายที่ด้นของตนให้กับนายไก่  เพื่อให้เป็นเจ้าของที่ดินแทนนายไข่แต่เพียงในนามเท่านั้น  สัญญาซื้อขายนี้เป็นสัญญาลวง  ตกเป็นโมฆะ
            แต่หากนายขวดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้น  และเชื่อว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นที่ดินของนายไก่  จึงให้นายไก่ยืมเงินไปโดยนายไก่นำที่ดินแปลงดังกล่าวจำนองไว้  นายไข่จะอ้างว่าสัญญาจำนองนั้นเป็นโมฆะ  เพราะว่านายไก่ไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงไมได้
            6.3 นิติกรรมอำพราง  หมายถึงในระหว่างคู่กรณีจะมีการทำนิติกรรมขึ้นเป็น 2 ลักษณะ  กล่าวคือ  นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงที่ทำขึ้นเพื่อลวงผู้อื่นให้เข้าใจว่าคู่กรณีได้ตกลงทำนิติกรรมลักษณะนี้กัน  และอีกลักษณะคือ  นิติกรรมที่ถูกอำพรางอันเป็นนิติกรรมที่แท้จริงของคู่กรณีที่ปกปิดอำพรางไว้ไม่เปิดเผยให้ผู้อื่นรู้  ดังนั้นในระหว่างคู่กรณีจะต้องบังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางนี้
            ตัวอย่าง เช่น  นายจันทร์กู้เงินนายอังคาร  โดยนายจันทร์มอบที่ดินให้นายอังคารเพื่อใช้ประโยชน์  แต่นายอังคารเกรงเจ้าหนี้คนอื่นของนายจันทร์จะยึดที่ดิน  นายอังคารจึงให้นายจันทร์ทำสัญญาซื้อขายเพื่ออำพรางไว้  ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินจึงเป้ฯนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน  เช่นนี้กฎหมายให้คู่กรณีบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงิน  จะบังคับตามสัญญาซื้อขายที่เปิดเผยไมได้
            แต่อย่างไรก็ตามนิติกรรมอำพรางนั้น  จะต้องทำให้ถูกต้องตาม “แบบ” ที่กฎหมายบังคับไว้ด้วย  มิฉะนั้นนิติกรรมอำพรางนั้นย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้  เช่น  โจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินไว้กับจำเลยเป็นการอำพรางการจำนอง  นิติกรรมฉบับแรกคือสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมเปิดเผย  ย่อมตกเป็นโมฆะ  เพราะว่าเป็นการแสดงเจตนาลวง  ส่วนนิติกรรมฉบับหลังคือสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพราง  ในระหว่างคู่สัญญาต้องบังคับตามนิติกรรมอำพราง  คือสัญญาจำนองแต่ว่าการจำนองไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้  จึงเรียกไม่ได้ว่าเป็นการจำนองแต่เป็นเพียงการกู้เงินโดยอาศัยเอกสารการขายฝากที่ดินที่ทำกันไว้  ณ  สำนักงานที่ดินเป็นสัญญากู้เงิน
            6.4 ความสำคัญผิด  เป็นเรื่องการเข้าใจความจริงที่ไม่ถูกต้อง  กล่าวคือเหตุการณ์เป็นอย่างหนึ่งแต่เข้าใจว่าเป็นอีกอย่างหนึ่ง  การสำคัญผิดที่ทำให้นิติกรรมไม่สมบูรณ์แบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ
            1) สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม  เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรมซึ่งมีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะ
            ตัวอย่าง  1. นายเอกต้องการจำนองที่ดินแก่นายโท  แต่นายเอกอ่านหนังสือไม่ออกและเชื่อใจนายโท  นายโทจึงนำสัญญามาให้ลงชื่อโดยบอกว่าเป็นสัญญาจำนอง  แต่ความจริงเป็นสัญญาขายที่ดินหรือยกที่ดินให้นายโทหากมีการไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามสัญญาขายหรือสัญญาให้นิติกรรมนั้นถือเป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม  ซึ่งเป็นโมฆะ
                          2. นายหนึ่งส่งมอบนาฬิกาให้แก่นายสองโดยเจตนาจะฝากไว้  แต่นายสองสำคัญผิดว่านายหนึ่งให้โดยเสน่หา  การให้ถือเป็นโมฆะ
                          3. นายเอกให้เงิน  10,000  บาทกับฝาแฝดชื่อนายใหญ่  ซึ่งนายเอกเชื่อว่าเป็นนายเล็กแฝดผู้น้อง  ถือเป็นการสำคัญผิดในตัวคู่กรณีที่เกี่ยวข้องในนิติกรรม  การแสดงเจตนาของนายเอกเป็นโมฆะ
            2) สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นความสำคัญผิดในมูลเหตุจูงใจให้ทำนิติกรรม  ซึ่งหากเป้ฯการสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์นั้นเป้ฯสาระสำคัญ  จะมีผลในทางกฎหมายทำให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆียะ
            ตัวอย่าง 1. นายไก่สั่งให้นายไข่ปลูกบ้าน  โดยเชื่อว่านายไข่เป็นวิศวกร  และไม่เคยปลูกสร้างบ้านเรือนมาก่อน  นิติกรรมนี้มีผลเป็นโมฆียะ  เพราะสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล
                         2. นายหนึ่งซื้อชามลายครามจากนายสอง  โดยมีเจตนาจะซื้อชามกังใส  ปรากฏว่าชามใบนั้นเป็นของใหม่และทำปลอมขึ้นมา  นิติกรรมนี้มีผลเป็นโมฆียะ  เพราะสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม
            6.5 การแสดงเจตนาเพราะเหตุกลฉ้อฉล  กลฉ้อฉล  หมายถึง  การหลอกลวงให้เขาสำคัญผิด  ต่างกับสำคัญผิด  เนื่องจากสำคัญผิดเกิดขึ้นจากความนึกคิดของผู้แสดงเจตนาเอง  แต่กลฉ้อฉลเป็นเรื่องการสำคัญผิดซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากความนึกคิดของผู้แสดงเจตนาเอง  หากเป็นเพราะมีบุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งอาจเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกมาหลอกลวงให้สำคัญผิด  ผลของการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
            ตัวอย่าง 1. นายใหญ่เป็นพ่อค้ารถมือสองซื้อรถเก่ามาทำสีใหม่และเปลี่ยนเครื่องมาแล้ว  ขายรถให้แก่นายเล็กโดยบอกว่าเป็นรถใหม่  ถือเป็นกลฉ้อฉล  และการแสดงเจตนาของนายเล็กเป็นโมฆียะ
                         2. นายจิมขายม้าให้กับนายจอน  โดยหลอกว่าม้ามีอายุ 3 ปี แต่ความจริงม้าตัวนั้นมีอายุ  10  ปี  ถือเป็นกลฉ้อฉล ทำให้สัญญาซื้อขายม้าเป็นโมฆียะ
            แต่หากกลฉ้อฉลซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่าย  โดยต่างฝ่ายต่างทำการฉ้อฉลด้วยกัน  ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะหยิบยกเอกกลฉ้อฉลนั้นขึ้นมาบอกล้างนิติกรรม  หรือเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่ได้
            ตัวอย่าง  เช่น  นายไก่จูงใจให้นายไข่ซื้อห้องเย็นของตนโดยแจ้งว่าทันสมัยรักษาความเย็นได้ดีมากแต่โดยความเป็นจริงมีขนาดเล็กและเครื่องเสียใช้การไม่ได้  ส่วนนายไข่ได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจจากบริษัทมาเพื่อซื้อห้องเย็นนั้น  ซึ่งทั้งนายไก่และนายไข่กระทำการด้วยกลฉ้อฉลทั้งคู่  จะบอกล้างหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในภายหลังไม่ได้
            6.6 จากแสดงเจตนาเพราะเหตุข่มขู่  การข่มขู่  หมายถึง การทำให้กลัวภัยอันใดอันหนึ่ง  เพื่อให้เขาทำนิติกรรม  ถ้าหากไม่ทำตามที่บอกจะได้รับภัยแต่หากการข่มขู่นั้นทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกลัวเพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย  หรือเพราะความนับถือยำเกรง ไม่ถือเป็นการข่มขู่  เช่น  ขู่ว่าจะฟ้องคดี  ขู่ว่าจะบอกเลิกสัญญาหรือเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องเคารพยำเกรง  เช่น  ลูกกับพ่อ  ศิษย์กับอาจารย์  กรณีเหล่านี้ไม่ใช่การข่มขู่  
            ผลของการแสดงเจตนาเพราะเหตุข่มขู่มีผลเป็นโมฆียะ
            ตัวอย่าง  เช่นนายสมเดชขอยืมเงินนางน้อย 1,000,000 บาท  โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้จะเอาไฟเผาบ้าน  การแสดงเจตนาเพราะเหตุข่มขู่มีผลเป็นโมฆียะ
            หรือจากตัวอย่างข้างต้น  นายสมเดชขู่บิดาหรือสามีของนางน้อยก็ถือเป็นการข่มขู่ซึ่งมีผลเช่นเดียวกัน
            ตัวอย่าง เช่น  นายไก่เป็นเจ้าหนี้นายไข่  เมื่อถึงเวลาชำระหนี้นายไข่ขอผัดผ่อนการชำระหนี้  แต่นายไก่ไม่ยอมและขู่ว่าจะฟ้องร้องเรียกเงินที่ค้างชำระและจะยึดทรัพย์สินของนายไข่  เช่นนี้ไม่ถือเป็นการข่มขู่
            7. นิติกรรมที่เป็นโมฆะ
            นิติกรรมที่เป็นโมฆะ  ถือเป็นความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมประเภทหนึ่งคำว่า “โมฆะกรรม” หมายถึง  นิติกรรมใดหรือการกระทำใดที่กระทำลงไปนั้นเป็นการเสียเปล่าไม่มีผลตามกฎหมาย  ในสายตาของกฎหมายเท่ากับว่าไม่ได้ทำกิจการนั้นเลย  แม้จะแสดงเจตนาผูกพันกันประการใดก็ตาม  สิทธิและหน้าที่ที่ผู้กระทำนิติกรรมหรือการดังกล่าวประสงค์ให้เกิดผลก็หาเกิดความผูกพันตามกฎหมายไม่  การเสียเปล่านี้มีมาแต่เริ่มแรกที่กระทำนิติกรรมต่อกัน
            กล่าวโดยสรุป  “โมฆะกรรม”  หมายถึง  นิติกรรมที่เสียเปล่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย  ไม่มีผบตามกฎหมาย  และไม่สามารถให้สัตยาบันให้นิติกรรมนั้นสมบูรณ์ได้
            เหตุที่ทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะมีดังนี้
            1) นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย  หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
            2) นิติกรรมที่มิได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้
            3) นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาซ่อนเร้นโดยคู่กรณีรู้ถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดง  แสดงเจตนาลวง  อำพราง  หรือสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม
            4) นิติกรรมที่เป็นโมฆะกรรมแล้วถูกบอกล้างในภายหลัง
            5) นิติกรรมเป็นโมฆะเพราะเหตุอื่น ๆ  ที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เช่น  การทำพินัยกรรมของผู้เยาว์ที่อายุไม่ครบ  15 ปีบริบูรณ์
            8. นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ
            นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ  ถือเป็นความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมประเภทหนึ่ง “โมฆียกรรม”  หมายถึงนิติกรรมที่อาจถูกบอกล้างให้เป็นโมฆะแต่เริ่มแรกได้แต่ตามความหมายทางกฎหมายนั้น  นอกจากโมฆียกรรมอาจถูกบอกล้างให้เป็นโมฆะแต่เริ่มแรกได้แล้ว  โมฆียะกรรมอาจได้รับสัตยาบันทำให้นิติกรรมนั้นสมบูรณ์แต่เริ่มแรกได้เช่นกัน
            กล่าวโดยสรุป “โมฆียะ”  หมายถึง  นิติกรรมที่มีผลจนกว่าจะถูกบอกล้างโดยผู้มีอำนาจบอกล้างตามกฎหมาย
            การให้สัตยาบัน  คือการรับรองนิติกรรมที่เป็นโมฆียะให้มีผลสมบูรณ์โดยผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรราม  เช่น  ผู้แทนโดยชอบธรรม  ซึ่งมีผลให้นิติกรรมนั้นสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก  แต่การให้สัตยาบันนั้นต้องทำภายหลังที่นิติกรรมอันเป็นโมฆียะได้เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น
            ตัวอย่าง เช่น นายแดงอายุ 16 ปีซื้อรถมอเตอร์ไซด์  ราคา 60,000  บาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  นิติกรรมเป็นโมฆียะ  แต่บิดามารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมเห็นว่าราคาถูกจึงไม่บอกล้างหรือให้การรับรองนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ  ถือเป็นการให้สัตยาบัน  ทำให้นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มแรก
            เหตุที่ทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะมีดังนี้
1)      เป็นบุคคลผู้หย่อนความสามารถ
2)      เป็นการแสดงเจตนาโดยความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์  การแสดงเจตนาเพราะกลฉ้อฉล  หรือเพราะเหตุข่มขู่
ผลของนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ  มีผลตามกฎหมายดังนี้
1)      โมฆียะกรรมสามารถบอกล้างได้
2)      โมฆียกรรมสามารถให้สัตยาบัน
3)      โมฆียกรรมเมื่อบอกล้างแล้วคู่กรณีให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม  เช่น  นายเล็กเป็นผู้เยาว์  นำรถจักรยานไปขายให้นายใหญ่  มีผลเป็นโมฆียะ  เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างนิติกรรม  นายใหญ่ต้องคืนจักรยานให้นายเล็ก  นายเล็กต้องคืนเงินให้กับนายใหญ่
กำหนดระยะเวลาในการบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ  กฎหมายกำหนดไว้เป็น 2 ช่วงเวลา  ดังนี้
1)      ต้องบอกล้างภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือ
2)      ต้องบอกล้างภายใน 10 ปี  นับแต่ทำนิติกรรม
ตัวอย่าง  เช่น  นายอเนกอายุ 17 ปีขายรถยนต์ให้กับนายอนันต์  นิติกรรมเป็นโมฆียะ  แต่เมื่อนายอเนกอายุครบ  20  ปี  อาจบอกล้างได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะได้  หรือหากบิดาของนายอเนกซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมรู้ว่าได้มีการทำนิติกรรมที่เป็นโมฆียะก็สามารถบอกล้างได้ภายใน 1 ปีนับแต่เวลาที่ทำนั้น
หรือจากตัวอย่างเดิม  นายอเนกหรือบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมจะบอกล้างได้ภายใน 10 ปี  นับแต่วันที่ขายรถก็ทำได้

แต่อย่างไรก็ตามการบอกล้างภายใน 1 ปีนับแต่ให้สัตยาบันนั้นต้องไม่เกินกว่า 10 ปีนับแต่วันที่ทำนิติกรรม


จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความ

Facebook