แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การสิ้นสภาพบุคคล แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การสิ้นสภาพบุคคล แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

 

สภาพบุคคลของบุคคลธรรมดาย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย (ตาม ป.พ.พ.  มาตรา 15)  แต่นอกจากการตายซึ่งถือว่าเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว  สภาพบุคคลยังสิ้นสุดลงได้ด้วยการสาบสูญอีกประการหนึ่งซึ่งกฎหมายถือว่าผู้นั้นถึงแก่ความตาย  เช่นเดียวกับการตายตามธรรมดา
            การตาย  การตายของบุคคลธรรมดา  เป็นการสิ้นสภาพบุคคลซึ่งทำให้สิทธิและหน้าที่ความรับผิดอันเป็นการเฉพาะตัวของบุคคลนั้นระงับไป  สภาพบุคคลสิ้นสุดไปทันที่นับแต่เวลาตายโดยปกติแล้วย่อมจะทราบเวลาและวันโดยแน่นอนเพราะตาม พ.ร.บ.  ทะเบียนราษฎร์  พ.ศ. 2499  ได้มีการกำหนดบังคับเกี่ยวกับเรื่องแจ้งการตายไว้แล้ว
            ในกรณีที่บุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน  เช่น  ไฟไหม้  เรืออับปราง  เครื่องบินตก  รถยนต์ชนกัน  เป็นต้น  บุคคลหลายคนนั้นไม่จำเป็นต้องไปร่วมกันแต่อาจเกิดภัยภยันตรายร่วมกัน  เช่น  เกิดรถยนต์ชนกันเป็นเหตุที่ต่างฝ่ายมีส่วนร่วมกันก่อขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามเหตุที่เกิดขึ้นร่วมก็มีเช่น  เรือล่ม  เครื่องบินตก  รถคว่ำ  ผู้โดยสารตายหมด  ไม่สามารถจะทราบได้ว่าใครตายก่อนหลัง  กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ว่าตายพร้อมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 17  ซึ่งบัญญัติว่า  “ในกรณีบุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน  ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลังให้ถือว่าตายพร้อมกัน”
            ตัวอย่าง  เช่น  แดง  ดำ  และขาวร่วมเดินทางไปกับรถยนต์โดยสารสายกรุงเทพฯหาดใหญ่  ปรากฏว่าไปชนกับรถบรรทุกสิบล้อ  ผู้โดยสารทั้งหมดที่มากับรถยนต์โดยสารตายหมดรวมทั้งพนักงานประจำรถโดยสารคันดังกล่าวด้วยเช่นนี้ถือว่าทุกคนที่โดยสารมาตายพร้อมกัน
            สาบสูญ  คือการที่บุคคลไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  โดยไม่มีใครรู้แน่นอนว่าบุคคลที่จากยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว  เมื่อครบตามกำหนดที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ถือว่าบุคคลผู้นั้นเป็นคนสาบสูญตาม ป.พ.พ.  มาตรา  61  บัญญัติว่า
            “ถ้าบุคคลได้จากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องของศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้



              ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี
            (1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง  ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
            (2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางอับปรางถูกทำลายหรือสูญหายไป
            (3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
            หลักเกณฑ์ที่จะถือว่าบุคคลใดเป็นคนสาบสูญ
            1. บุคคลนั้นได้จากภูมิลำเนา  หรือถิ่นที่อยู่ไปโดยไม่ได้ข่าวคราวเป็นเวลาห้าปีในกรณีธรรมดาหรือเป็นเวลาสองปีในกรณีพิเศษ  และ
            2. ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ  และ
            3. ศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ
            เหตุที่จะขอศาลให้มีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญนั้นมี  2  กรณี  คือ
            กรณีธรรมดา  หมายถึงบุคคลนั้นได้จากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่มีผู้ใดพบเห็น  หรือทราบข่าวคราวเป็นเวลาติดต่อกันห้าปีแล้ว  เช่น  นายสุเทพ  หายไปจากบ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาโดยไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือทราบข่าวคราวเลยเป็นเวลาติดต่อกันห้าปี  ภริยาของนายสุเทพหรือทายาทคนหนึ่งคนใดซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาล  เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายสุเทพเป็นคนสาบสูญ
            กรณีพิเศษ  หมายถึงบุคคลนั้นได้ไปตกอยู่ในภยันตรายแก่ชีวิต  เช่น  ในสมรภูมิแห่งสงครามหรือในเรือเมื่ออับปราง  หรือไฟไหม้  เป็นต้น  หากนับเวลาตั้งแต่ภยันตรายแก่ชีวิตนั้นได้สิ้นสุดลงเป็นเวลาผ่านพ้นไปสองปียังไม่ทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  เช่น  สิบเอกสมชายไปสงครามที่ชายแดนเมื่อสงครามสงบแล้วปรากฏว่าสิบเอกสามชายไม่กลับมาด้วยเวลาได้ผ่านพ้นไปสองปีก็ไม่รู้ว่ามีชิวิตอยู่หรือไม่  ภริยาของสิบเอกสมชายหรือทายาทคนใดคนหนึ่ง  ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือพยักงานอัยการมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอต่อศาล  เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้สิบเอกสมชายเป็นคนสาบสูญสำหรับในกรณีพิเศษนี้
            สำหรับเรื่องเวลาเริ่มต้นของการสาบสูญมีปัญหาว่ามีผลบังคับแต่เมื่อใดซึ่งในเรื่องนี้ป.พ.พ.  มาตรา 62  บัญญัติว่า  “บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวที่ระบุไว้ในมาตรา  61 “กล่าวคือ  การสาบสูญจะเริ่มต้นมีผลเมื่อครบกำหนดห้าปีในกรณีธรรมดา  หรือสองปีในกรณีพิเศษซึ่งไม่ใช่เริ่มต้นนับแต่วันมีคำสั่งศาลหรือนับแต่วันโฆษณาคำสั่งศาลในราชกิจจานุเบกษา
            เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้ว  มีผลเท่ากับว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตาย  ป.พ.พ. มาตรา 62 บัญญัติว่า  “บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้คนสาบสูญให้ถือว่าถึงแก่ความตาย...” ดังนั้นเมื่อถือว่าคนสาบสูญถึงแก่ความตายหมายถึงการสิ้นสภาพบุคคล  ฉะนั้นผลที่ใช้บังคับในกรณีที่มีการตายธรรมดาจึงนำมาใช้บังคับในกรณีคนสาบสูญด้วย  เช่น  ทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทเว้นแต่ในบางเรื่องผลอาจแตกต่างจากการตายธรรมดา  เช่น  คำสั่งศาลให้บุคคลเป็นคนสาบสูญไม่ทำห้ากรสมรสขาดจากกันถ้าฝ่ายที่ยังอยู่จะทากรสมรสใหม่ต้องนำคำสั่งสาบสูญไปเป็นหลักฐานในการฟ้งหย่าตาม  ป.พ.พ.  มาตรา 1516  (5)
            หากต่อมาพิสูจน์ได้ว่าบุคคลที่สาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่  หรือว่าได้ถึงแก่ความตายแล้วแต่ตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาที่กฎหมายกำหนดสันนิษฐานไว้  คือ  5  ปีในกรณีธรรมดาหรือ 2 ปีในกรณีพิเศษ  เมื่อบุคคลผู้นั้นเองหรือผู้ใดผู้หนึ่งมีส่วนได้เสีย  หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลศาลจะต้องถอนคำสั่งแสดงความสาบสูญ  นั้นแต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่ง  แสดงความสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น  แต่อย่างหนึ่งอย่างใด  (ป.พ.พ  มาตรา  63) เช่น  ก. ได้บ้านมา  2  หลังโดยทางมรดกของ ข. คนสาบสูญ  ต่อมา  ข.  กลับมาและศาลถอนคำสั่งสาบสูญ  เช่นนี้  ก. ต้องคืนบ้านทั้งสองหลังให้  ข. แต่ถ้า ก  ได้ขายบ้านหลังหนึ่งให้แก่  ค. โดยสุจริตคือไม่ทราบความจริงว่า ข. ยังมีชีวิตอยู่  ดังนี้สัญญาซื้อขายบ้านระหว่าง  ก. กับ ค. มีผลสมบูรณ์  ข. จะขอเพิกถอนสัญญาซื้อขาย  เพื่อเรียกเอาบ้านหลังนั้นคืนไม่ได้
            คำสั่งศาลแสดงสาบสูญหรือคำสั่งถอนคำสั่งแสดงความสาบสูญต้องโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา  เพราะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับสถานะของบุคคล  มีความสำคัญต้องประกาศในเอกสารของทางราชการ (ป.พ.พ. มาตรา 64)
            ผลในทางกฎหมายของการเริ่มสภาพบุคคล  และการสิ้นสุดสภาพบุคคล  มีกรณีที่ควรพิจารณาบางประการดังต่อไปนี้
            ทางแพ่ง การรู้สภาพบุคคลเกิดขึ้นเมื่อใดก็เพื่อวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคลนั้นรวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดที่เกี่ยวโยงและผูกพันถึงบุคคลอื่นด้วยเพราะสิทธิของบุคคลจะมีขึ้นตั้งแต่เกิดมามีชีวิตรอกอยู่คือเริ่มมีสภาพบุคคลหรืออาจย้อนขึ้นไปจนถึงวันที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดาเช่น  สิทธิในการเป็นทายาทรับมรดก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1604 ที่บัญญัติว่า  “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคล  หรือสามารถมีสิทธิตามาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย...”
            ส่วนการตายทำให้สิทธิและหน้าที่ของบุคคลสิ้นสุดลง  และทรัพย์ของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท  (ป.พ.พ.  มาตรา  1599)  การพิจารณาว่ากองมรดกผู้ตายมีทรัพย์สินอะไรบ้างและมีสิทธิหน้าที่และมีนสิทธิหน้าที่และความรับผิดอย่างไร  กับการพิจารณาหาทายาทในการรับมรดก  กฎหมายให้พิจารณาในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  ดังนั้นการรู้วันเกิด  วันตายของบุคคลจึงมีความสำคัญ
            ทางอาญา  การวินิจฉัยความรับผิดในทางอาญาของผู้กระทำความผิดต่อทารกที่คลอดออกมาจากครรภ์มารดาว่าจะเป็นความผิดฐานฆ่าคนตาย  ตาม ป.อาญามาตรา 288  หรือความผิดฐานทำให้แท้งลูก  ตาม  ป. อาญา  มาตรา  301  ถึงมาตรา  305  จำเป็นต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าทารกมีสภาพบุคคลแล้วหรือไม่  กล่าวคือ  องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าคนตายนั้นผู้ถูกกระทำต้องเป็นบุคคลธรรมดาคือ  ทารกต้องมีสภาพบุคคลก่อนแล้วผู้ที่กระทำให้ทารกนั้นถึงแก่ความตายจึงจะมีความผิดฐานฆ่าคนตายถ้าระหว่างที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา  ยังไม่เกิดมารอดอยู่จึงยังไม่เป็นบุคคลที่จะถูกฆ่าได้ หรือทารกที่ตายก่อนคลอดหรือตายระหว่างคลอด  เป็นการคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิตไม่มีสภาพบุคคลจึงไม่เป้ฯบุคคลที่จะถูกฆ่าได้เช่นกัน   ดังนั้น  ผู้ที่ทำให้ทารกตายก่อนคลอดหรือตายขณะคลอด  ซึ่งทารกยังไม่มีสภาพเป้ฯบุคคลจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตาย  แต่อาจมีความผิดทำให้แท้งลูกตาม ป. อาญา มาตรา 301  ถึงมาตรา 305 ซึ่งมีโทษน้อยกว่าความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาในทางตรงกันข้ามถ้าทารกคลอดแล้วมีชีวิตอยู่รอด  แม้ว่าจะมีชีวิตอยู่เพียงชั่วขณะเดียวก็จะมีสภาพบุคคล  ผู้ที่ทำให้ทารกตายอาจมีความผิดฐานฆ่าคนตายได้

            อนึ่ง  เมื่อบุคคลตายแล้ว  สิ้นสภาพบุคคลกลายเป็นศพ  ก็ไม่เป็นบุคคลที่จะถูกฆ่าได้อีกเช่นเดียวกัน  ผู้ที่ประทุษร้ายต่อศพย่อมไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตาย  ตัวอย่าง  นายเขียวใช้มีดปลายแหลมแทงนายดำ  ซึ่งตายมาแล้ว  2  วันทำให้ศพนั้นเละ  เช่นนี่นายเขียวย่อมไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตายตาม ป. อาญา มาตรา 288

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

บทความ

Facebook